หลายคนคงยังจำเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 กันได้ดี เรียกว่าเป็นเหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์เลยก็ได้ เพราะแผ่นดินไหวครั้งนั้นส่งผลกระทบในวงกว้าง ไม่ว่าจะอยู่บ้านหรือคอนโดก็สามารถสัมผัสถึงความสั่นสะเทือนของอาคารได้ทั้งนั้น หากเป็นบ้านก็จะได้รับแรงสะเทือนน้อยกว่าคอนโดสูงๆ
ก่อนอื่นเราต้องเราขอพูดถึงระดับของความรุนแรงของแผ่นดินไหว แผ่นดินไหวมีหลากหลายระดับ แบ่งได้เป็น 5 ช่วง คือ
- ความรุนแรง 1.0-2.9 เกิดการสั่นไหวเล็กน้อย ผู้คนเริ่มรู้สึกถึงอาการสั่นไหว บางครั้งรู้สึกเวียนศีรษะ
- ความรุนแรง 3.0-3.9 เกิดการสั่นไหวเล็กน้อย ผู้คนที่อยู่ในอาคารรู้สึกเหมือนรถไฟวิ่งผ่าน
- ความรุนแรง 4.0-4.9 เกิดการสั่นไหวปานกลาง ผู้ที่อาศัยอยู่ทั้งภายในอาคารและนอกอาคาร รู้สึกถึงการสั่นสะเทือน วัตถุที่ห้อยแขวนมีการแกว่งไปมา
- ความรุนแรง 5.0-5.9 เกิดการสั่นไหวรุนแรงเป็นบริเวณกว้าง เครื่องเรือน และวัตถุมีการเคลื่อนที่
- ความรุนแรง 6.0-6.9 เกิดการสั่นไหวรุนแรงมาก อาคารเริ่มเสียหาย พังทลาย
- ความรุนแรง 7.0 ขึ้นไป เกิดการสั่นไหวอย่างร้ายแรง อาคาร สิ่งก่อสร้างได้รับความเสียหาย อย่างมาก แผ่นดินเกิดการแยกตัว วัตถุที่อยู่บนพื้นถูกเหวี่ยงกระเด็น
ซึ่งแผ่นดินไหวครั้งล่าสุดที่ผ่านมานี้ก็มีจุดศูนย์กลางที่ประเทศพม่ารุนแรงมากถึง 8.2 ริกเตอร์ ก็คือระดับรุนแรงที่สุดนั่นเอง และส่งผลกระทบมาถึงกรุงเทพฯด้วย ต้องยอมรับว่าประเทศไทยของเรา ไม่เคยเจอเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่รุนแรงขนาดนี้มาก่อน จึงไม่แปลกที่หลายๆคนไม่รู้ว่าต้องทำตัวยังไง เมื่ออยู่ในสถานการณ์แบบนี้ หลายคนอาจพลาดทำอะไรที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อตัวเองและผู้อื่นโดยไม่รู้ตัว วันนี้ทาง Think of Living มี ‘วิธีรับมือกับแผ่นดินไหว ขณะอยู่บ้านและคอนโด’ มาให้ทุกคนอ่านกันค่ะ
เราขอแบ่งสถานการณ์ออกเป็น แผ่นดินไหวขณะอยู่บ้านหรือคอนโด , ขณะอยู่ที่แจ้งและหลังเกิดแผ่นดินไหว
วิธีการรับมือกับเหตุการณ์เกิดแผ่นเดินไหวขณะอยู่บ้านหรือคอนโด
ขณะเกิดแผ่นดินไหว
- ตั้งสติก่อนเป็นอันดับแรก : การที่เราไม่เคยเจอเหตุการณ์แผ่นดินไหว ทำให้หลายคนลนลาน ไม่รู้จะทำยังไงกับเหตุการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่ จนอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ ดังนั้นการตั้งสติเป็นสิ่งที่สำคัญในการเอาตัวรอดจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวนี้เลย
- หมอบลงกับพื้นหลบใต้โครงสร้างที่แข็งแรง : เช่น โต๊ะ , เตียง เพื่อป้องกันสิ่งของจากเพดานหรือที่สูงหล่นใส่ กรณีไม่มีโต๊ะหรือเตียง ให้ใช้แขนปิดศรีษะแล้วหมอบลงบริเวณมุมห้อง ห่างจากกระจก , หน้าต่าง หรือบริเวณที่อาจมีสิ่งของหล่นใส่ได้ เช่น ตู้ ,โคมไฟ
*สำหรับคนที่อยู่บนอาคารสูง หากแผ่นดินยังไหวอย่างต่อเนื่อง ไม่หยุดสักทีให้รีบออกจากอาคารโดยเร็วที่สุด โดยหาสิ่งของที่แข็งแรงมาบังศรีษะไว้ขณะวิ่งลงจากอาคาร - กรณีที่นอนอยู่บนเตียง : ให้เอาหมอนบังศรีษะไว้ป้องกันสิ่งของหล่นใส่
สิ่งที่ไม่ควรทำ :
- ไม่ควรปิดประตูไว้ขณะแผ่นดินไหว เพราะรูปประตูหรือวงกบอาจได้รับผลกระทบจนบิดเบี้ยว ทำให้เปิดประตูไม่ได้ แล้วออกจากอาคารไม่ได้ค่ะ
- ห้ามวิ่งลงอาคารจากอาคารตอนที่แผ่นดินยังไหว เพราะตอนที่อาคารสั่นเป็นช่วงที่เราอาจได้รับบาดเจ็บจากการที่สิ่งของหล่นใส่ได้ และการวิ่งหนีขณะที่อาคารยังสั่นไหว เป็นการเพิ่มแรงสั่นสะเทือนให้แก่ตัวอาคารเข้าไปอีก
หลังเกิดแผ่นดินไหว (เมื่ออาคารหยุดสั่น)
- ตรวจสอบตัวเองและผู้อื่น : หากได้รับบาดเจ็บ ให้ทำการปฐมพยาบาลขั้นต้นก่อน
- ใส่รองเท้าหุ้มส้นขณะออกจากห้อง : เพราะอาจมีเศษแก้ว หรือวัสดุแหลมคมที่ตกหล่นลงมาแทง
- ออกจากอาคารโดยเร็ว : สำหรับคนที่อยู่คอนโดให้ใช้บันไดหนีไฟเท่านั้นเพราะโครงสร้างของบันไดหนีไฟจะเป็นส่วนที่แรงแข็ง และไม่มีการตกแต่งสักเท่าไร จึงลดโอกาสที่ของอย่าง ฝ้า , โคมไฟตกแต่งหล่นใส่เรา
- มาอยู่ในที่โล่ง : เลี่ยงการอยู่ใกล้เสาไฟฟ้า , ต้นไม้ หรือสิ่งแขวนห้อยต่างๆ เพราะอาจล้มทับเรา ทำให้เกิดการบาดเจ็บได้ ควรรอจนกว่าจะมีผู้เชี่ยวชาญมาตรวจสอบอาคาร และอนุญาตให้เข้าอาคารได้
สิ่งที่ไม่ควรทำ : ห้ามใช้ลิฟต์เด็ดขาดเพราะสายสลิงอาจขาดได้ หรือหากปล่องลิฟต์เกิดบิดเบี้ยว จะติดอยู่ในลิฟต์ได้โดยง่าย
แผ่นดินไหวเวลาเราอยู่ด้านนอกอาคาร
- เมื่อขับรถอยู่ : จอดรถและอยู่ภายในรถ จนกว่าแรงสั่นสะเทือนจะหมดไป โดยควรจอดให้ห่างจากเสาไฟฟ้าและสายไฟ
- เมื่ออยู่ที่โล่งแจ้ง : สังเกตว่ารอบๆข้างไม่มีต้นไม้ใหญ่ หรือสิ่งของที่จะร่วงลงมาใส่หัวได้
หลังแผ่นดินไหว เมื่อสามารถเข้าอาคารได้แล้ว
- ตรวจสายไฟ ท่อน้ำ ท่อแก๊ส : ถ้าแก๊สรั่วให้ปิดวาล์วถังแก๊ส ยกสะพานไฟ อย่าจุดไม้ขีดไฟ
หรือก่อไฟจนกว่าจะแน่ใจว่าไม่มีแก๊สรั่ว - ติดตามข่าวสารจากหน่วยงานที่เชื่อถือได้ : เช่น กรมอุตุนิยมวิทยาหรือสำนักงานป้องกันภัยพิบัติ เพื่อรับคำแนะนำต่อไป
- ตั้งขวดน้ำไว้ ในจุดที่สังเกตง่ายๆ : เวลาที่เกิด Aftershock เราจะได้รู้ตัวทัน
- เตรียมกระเป๋าฉุกเฉิน : เตรียมข้าวของจำเป็นใส่กระเป๋า พร้อมอพยพได้ตลอดเวลา เพราะหลังจากแผ่นดินไหวมักมี Aftershock ตามมาซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ถัดจากแผ่นดินไหวไม่กี่ชั่วโมง หรือเป็นวันจนไปถึงเดือนเลยค่ะ โดยส่วนใหญ่ Aftershock จะมีแรงสั่นสะเทือนที่น้อยกว่าแผ่นดินไหวครั้งหลัก
ข้าวของจำเป็นแบ่งออกเป็น 4 หมวด
- อุปกรณ์และของใช้จำเป็น
– เอกสารสำคัญ เช่น สำเนาบัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน หนังสือเดินทาง
– ข้อมูลติดต่อฉุกเฉินของญาติหรือเพื่อนสนิท
– แผนที่หรือข้อมูลที่อยู่ของศูนย์พักพิงใกล้เคียง
– อุปกรณ์ปฐมพยาบาล เช่น ผ้าพันแผล ยาแก้ปวด ยาแก้แพ้ และน้ำยาฆ่าเชื้อ
– ยาประจำตัวที่ต้องใช้เป็นประจำ
– หน้ากากกันฝุ่นหรือหน้ากาก N95 ป้องกันฝุ่นจากซากอาคาร
– วิทยุพกพาพร้อมถ่านสำรอง เพื่อติดตามข่าวสาร
– ไฟฉายและถ่านไฟฉายสำรอง
– แบตเตอรี่สำรอง (Power Bank) สำหรับโทรศัพท์มือถือ
– นกหวีด ใช้ส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ - เงินสด
– เงินสดจำนวนหนึ่ง เผื่อกรณีตู้เอทีเอ็มใช้งานไม่ได้ - เสื้อผ้า
– เสื้อผ้าสำรอง 1-2 ชุด (ควรเลือกแบบที่แห้งเร็ว)
– ผ้าห่มหรือเสื้อกันหนาว
– รองเท้าหุ้มส้นที่สามารถป้องกันเศษกระจกหรือซากปรักหักพังได้ - อาหารและเครื่องดื่ม
– น้ำดื่มบรรจุขวด (อย่างน้อย 3-5 ลิตรต่อคน)
– อาหารแห้ง เช่น ขนมปังสำเร็จรูป บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารกระป๋อง
– ช้อนส้อมพกพาและที่เปิดกระป๋อง
– นมผง ผ้าอ้อม ของเล่นเล็ก ๆ สำหรับเด็ก (ถ้ามีเด็ก)
การดูแลสภาวะจิตใจหลังแผ่นดินไหว
หลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว หลายคนอาจเกิดสภาวะเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนขวัญ หรือ โรค PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder) ซึ่งเป็นภาวะทางจิตใจที่เกิดขึ้นหลังจากประสบกับเหตุการณ์ที่รุนแรงหรือคุกคามต่อชีวิต โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด อย่างในกรณีนี้คือ แผ่นดินไหวนั้นเอง ซึ่งคนที่เป็น PTSD จะมีอาการ ดังนี้
- คิดถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหวซ้ำๆ
- นอนไม่หลับ หรือสะดุ้งตื่นกลางดึกบ่อยๆ
- เกิดอาการกลัวและหวาดผวา
- หมดความรู้สึกับทุกอย่าง
อาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นหลังเหตุการณ์สะเทือนขวัญ โดยระยะเวลาก็ขึ้นอยู่กับสภาพจิตใจของแต่ละคน เราอาจบรรเทาความเครียดได้ง่ายๆ ด้วยการระบายให้คนอื่นฟัง หรือสามารถปรึกษาผู้เชี่ยวชาญได้ ปัจจุบันทาง สสส. มีเว็บหรือ Application ‘Here to Heal’ ที่ให้คำแนะนำเรื่องสุขภาพจิตแบบไม่มีค่าใช้จ่าย
แม้เหตุการณ์แผ่นดินไหวจะเป็นสิ่งที่เราไม่เคยเจอมาก่อน แต่การตั้งสติดูจะเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการเอาตัวรอด จากนั้นควรหาที่หลบและเตรียมอพยพโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้อาจมี After Shock ตามมาควรเฝ้าระวังและเตรียมกระเป๋าฉุกเฉินไว้เมื่อต้องอพยพตลอดเวลาค่ะ
เป็นอย่างไรบ้างคะกับวิธีการรับมือหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหว เราหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ และทุกคนจะผ่านพ้นอุปสรรคต่างๆเหล่านี้ไปได้ด้วยดีนะครับ ครั้งหน้า Think of living จะมีบทความอะไรมาฝากกันอีก หรือใครอยากทราบ/มีปัญหาเรื่องอะไร ก็ลอง comment และติดตามกันได้นะค่ะ