ใครที่วางแผนจะซื้อบ้าน-คอนโดในปีนี้ ห้ามพลาด! เราจะพาไปเจาะลึกมาตรการลดค่าโอน-จดจำนองเหลือ 0.01% สำหรับบ้านไม่เกิน 7 ล้านบาท ในปี 2568 ที่พอมีประกาศออกมาปุ๊บ หลายคนก็ถามเข้ามาทางเพจของ Thinkofliving กันเยอะมาก ส่วนใหญ่สงสัยว่า
คำถาม : Refinance ได้ลดค่าจดจำนองด้วยมั้ย?
คำตอบคือ ไม่เข้าเกณฑ์นะคะ ได้เฉพาะคนที่ซื้อใหม่เท่านั้น
คำถาม : ถ้าเป็นบ้านและคอนโดมือ 2 ได้ลดค่าโอน-จดจำนองด้วยรึเปล่า?
คำตอบคือ ได้ลดค่ะ ถือว่าเข้าเกณฑ์
และอีกหลายคำถามมากมายที่ทางแฟนเพจคอมเมนต์กันเข้ามา ทั้งเรื่องบ้านมือ1, มือ 2 หรือประเภทอสังหาฯ ที่เข้าเกณฑ์ ทางทีมงานจึงไม่รอช้ารีบไปหาคำตอบจากทางสำนักงานที่ดินมาให้แล้วค่ะ
นอกจากนี้ยังรวบรวมมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ อื่นๆ จากทางภาครัฐ ได้แก่
– ลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับคนที่สร้างบ้านเอง สูงสุด 100,000 บาท
– มาตรการ LTV 2568 ไม่ต้องดาวน์ กู้ได้ 100% ทุกหลังทุกราคา
– สำหรับการกู้ร่วม ในกรณีที่ผู้กู้ร่วมไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัย จะให้ผ่อนปรนเสมือนว่ายังไม่เป็นผู้กู้ในครั้งนั้น
– บ้านเพื่อคนไทย ที่อยู่อาศัยของรัฐที่ได้ทำเลดี สำหรับผู้มีรายได้ไม่เกิน 50,000 บาท (ระยะที่ 1 ปิดลงทะเบียนแล้วเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2568)
รวมทั้งหมด 5 มาตรการ ตามไปดูรายละเอียดกันค่ะ
1. ลดค่าธรรมเนียมโอน-จดจำนองบ้านและคอนโด ไม่เกิน 7 ล้านบาท
ลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองบ้าน-คอนโดราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท สำหรับการซื้อขายที่อยู่อาศัย ปี 2568 แบ่งเป็น
– ลดค่าจดทะเบียนโอน อสังหาริมทรัพย์จาก 2% เหลือ 0.01%
– ลดค่าจดทะเบียนการจำนอง อสังหาริมทรัพย์จาก 1% เหลือ 0.01%
คำถาม : ประเภทอสังหาฯ ที่เข้ามาตรการ?
คำตอบคือ ที่อยู่อาศัยทั้งมือหนึ่งและมือสอง ทั้งบ้าน, คอนโด, อาคารพาณิชย์ และที่ดินพร้อมอาคาร ในราคาซื้อขายและราคาประเมินทุนทรัพย์ไม่เกิน 7 ล้านบาท และวงเงินจำนองไม่เกิน 7 ล้านบาท สำหรับที่ดินเปล่าจะไม่เข้าเกณฑ์นะคะ*
คำถาม : ถ้าซื้อเป็นบ้านหรือคอนโดมือ 2 เข้าเกณฑ์มั้ย?
คำตอบคือ เข้าเกณฑ์ค่ะ
คำถาม : Refinance เข้าเกณฑ์มั้ย?
คำตอบคือ ไม่เข้าเกณฑ์ เพราะมาตรการนี้ออกมาเพื่อกระตุ้นให้เกิดการซื้อขาย แต่ Refinance เป็นการซื้อไปก่อนหน้านี้ 3 ปีขึ้นไปแล้วค่ะ
คำถาม : ระยะเวลาโครงการ?
คำตอบคือ บังคับใช้แล้วไปจนถึง 30 มิ.ย. 2569
คำถาม : ถ้าซื้อบ้านราคา 8 ล้านบาท จะลดค่าโอนในส่วน 7 ล้านบาทแรกได้มั้ย
คำตอบคือ ไม่ได้ เพราะมูลค่าซื้อขาย, ราคาประเมินทุนทรัพย์และวงเงินจำนองเกิน 7 ล้านบาท
คำถาม : โอนบ้านให้ลูกที่ชอบด้วยกฎหมายได้ลดหย่อนด้วยมั้ย
คำตอบคือ ไม่ได้ สำหรับการโอนบ้านให้ลูกที่ชอบด้วยกฎหมาย จะเสียค่าธรรมเนียมในอัตราที่ถูกกว่าปกติอยู่แล้ว โดยมีค่าธรรมเนียมการโอน 0.5% และอากรแสตมป์ 0.5% ของราคาประเมิน อีกทั้งยังไม่เสียภาษีเงินได้ ถ้าราคาบ้านไม่เกิน 20 ล้านบาทด้วยค่ะ
คำถาม : มาตรการลดค่าธรรมเนียมโอนและจดจำนอง ปี 2568 ช่วยลดได้เท่าไหร่?
คำตอบคือ เราคำนวณมาให้แล้วว่าราคาซื้อขายเท่าไหร่จะได้ส่วนลดค่าโอน+จดจำนองไปเท่าไหร่ ตามข้อมูลในตารางนะคะ อย่างในกรณีที่ซื้อขายบ้านที่มีราคาประเมิน 7 ล้านบาทก็ช่วยลดค่าธรรมเนียมโอนและจดจำนองสูงสุดถึง 200,000 กว่าบาทเลยค่ะ
2. ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผู้ปลูกสร้างบ้านเอง
สำหรับผู้ปลูกสร้างบ้านเองจะมีสิทธินำค่าจ้างก่อสร้างไปหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 10,000 บาทต่อทุก 1 ล้านบาท แต่รวมไม่เกิน 100,000 บาท สำหรับสัญญาจ้างและการก่อสร้างในช่วง 9 เม.ย. 2567 ถึง 31 ธ.ค. 2568 เท่านั้นค่ะ
คำถาม : ใครคือผู้ที่เข้าเกณฑ์บ้าง?
คำตอบคือ บุคคลธรรมดา (ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล) ที่จ้างก่อสร้างบ้านกับผู้รับจ้าง ซึ่งผู้รับจ้างต้องเป็นผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยนะคะ
คำถาม : ใช้ลดหย่อนภาษีได้ในปีไหน?
คำตอบคือ ลดหย่อนได้เฉพาะค่าจ้างก่อสร้างบ้านไม่เกิน 1 หลัง ในปีภาษีที่ก่อสร้างบ้านเสร็จ ตามสัญญาจ้างที่ได้กระทำขึ้นและเริ่มดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2567 – 31 ธันวาคม 2568 และได้เสียอากรแสตมป์โดยวิธีการชำระอากรเป็นตัวเงินผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตค่ะ
3. มาตรการ LTV 2568 ไม่ต้องดาวน์ กู้ได้ 100% ทุกหลังทุกราคา
ธนาคารแห่งประเทศไทยปลดล็อกมาตรการ LTV ให้กู้ได้ 100% หมายความว่าเราไม่ต้องวางเงินดาวน์ในการซื้อบ้านทั้งหลังแรก, หลังที่ 2,3,4,… และจะราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท หรือสูงกว่า 10 ล้านบาท ก็กู้ได้ 100% ไม่ต้องวางเงินดาวน์ นี่เป็นมาตรการชั่วคราวประมาณ 1 ปีเท่านั้น โดยต้องทำสัญญาเงินกู้ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2568 – 30 มิถุนายน 2569 ค่ะ
หากเราไปดูข้อบังคับเดิมของปี 2567 จะเห็นว่ามีกฎเกณฑ์ให้เราต้องวางเงินดาวน์ หากต้องการซื้อบ้านหลังที่ 2 หรือบ้านที่มีราคาสูงกว่า 10 ล้านบาท โดยมีสัดส่วนเงินดาวน์อยู่ที่ 10-30% แต่ด้วยสัญญาณของตลาดอสังหาฯ ที่ยังไม่มีแนวโน้มจะฟื้นตัว ทำให้แบงค์ชาติออกมาตรการนี้มากระตุ้น เพื่อให้คนที่อยากมีบ้านหลังที่ 2,3,4,.. หรือคนที่อยากซื้อบ้านราคาสูงกว่า 10 ล้านบาท กู้ได้ 100% ไม่ต้องวางดาวน์เลย ทำให้กู้ธนาคารได้ง่ายขึ้น ช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการเข้าอยู่อาศัย
ทางทีม Thinkofliving ทำตารางสรุปมาให้เห็นภาพง่ายๆ ว่ามาตรการ LTV 2568 นี้กำหนดให้ทุกราคา และทุกสัญญาบ้านสามารถกู้ได้ 100% ไปเลย และยังคงมีเฉพาะสัญญาบ้านหลังที่ 1 ที่สามารถกู้ 110% เพื่อใช้ตกแต่งได้ค่ะ ทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละธนาคารแล้วว่าจะให้กู้หรือไม่ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับโปรไฟล์-เครดิตทางการเงินของแต่ละบุคคลนะคะ
คำถาม : ระยะเวลาโครงการ?
คำตอบคือ ต้องทำสัญญาเงินกู้ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2568 – 30 มิถุนายน 2569
คำถาม : ถ้าซื้อเป็นบ้านหลังที่ 2,3 กู้ได้ 100% มั้ย?
คำตอบคือ ได้ 100% ทุกหลัง ทุกราคา
คำถาม : สามารถกู้เกิน 100% เพื่อตกแต่งได้มั้ย?
คำตอบคือ ได้เฉพาะกรณีสัญญาบ้านหลังที่ 1 ที่ราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท จะสามารถกู้เพิ่มได้อีก 10% ของมูลค่าหลักประกัน เพื่อการใช้จ่ายที่จำเป็นสำหรับการเข้าอยู่อาศัยจริง เช่น การตกแต่งบ้าน, ทำโรงจอดรถ, ซื้อเฟอร์นิเจอร์, ซ่อมแซมหรือต่อเติม
ข้อมูลเพิ่มเติม >> คลิกที่นี่
4. ปรับหลักเกณฑ์ LTV กรณีกู้ร่วม นับสัญญากู้เฉพาะผู้กู้ที่มีกรรมสิทธิ์
ปีนี้ทางภาครัฐก็ยังคงหลักเกณฑ์ LTV กรณีกู้ร่วม โดยให้นับสัญญาตามผู้กู้ที่มีชื่อในกรรมสิทธิ์ ไม่นับผู้กู้ร่วมที่ไม่มีกรรมสิทธิ์ เพื่อเปิดโอกาสให้ช่วยกันกู้ซื้อบ้านได้มากขึ้น มาตรการนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรแต่ถือว่าผู้กู้ร่วมในปีนี้ก็ได้ประโยชน์ไปค่ะ
คำถาม : ถ้าเรากู้ร่วมเพื่อช่วยให้พี่น้องสามารถกู้ผ่าน แล้วเมื่อเราไปกู้บ้านหลังต่อไปจะกู้เต็มได้ไหม
คำตอบคือ หากผู้กู้ร่วมมีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยทั้งคู่จะนับสัญญาการกู้ร่วมนั้นว่าทั้งคู่มีสัญญาการกู้ร่วมคนละ 1 สัญญา แต่หากมีการกู้ร่วมแต่ไม่มีชื่อในกรรมสิทธิ์จะถือว่าผู้ที่ไม่มีกรรมสิทธิ์ยังไม่มีเป็นผู้กู้ในครั้งนั้น
ซึ่งเรื่องนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่ต้องกู้ร่วมเพื่อช่วยเหลือคนในครอบครัวให้กู้ผ่าน แต่ไม่ได้มีกรรมสิทธิ์ใดๆ เมื่อเวลาผ่านไปต้องการไปกู้ซื้อบ้านของตัวเองบ้างจะยังสามารถกู้ 100% ได้ ไม่ต้องวางเงินดาวน์ 10-20% ตามที่ LTV กำหนด
คำถาม : ระยะเวลาโครงการ?
คำตอบคือ บังคับใช้แล้ว จนกว่าจะมีประกาศเป็นอย่างอื่น
5. บ้านเพื่อคนไทย ที่อยู่อาศัยของรัฐที่ได้ทำเลดี สำหรับผู้มีรายได้ไม่เกิน 50,000 บาท
สำหรับบ้านเพื่อคนไทยระยะที่ 1 ได้ปิดลงทะเบียนแล้วเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2568 นะคะ ทีนี้ถึงเวลามาลุ้นกันแล้วค่ะว่าใครจะเป็นผู้โชคดีได้มีสิทธิจับสลากกันบ้าง ซึ่งต้องรอประกาศผ่านทาง www.บ้านเพื่อคนไทย.th นะคะ
คำถาม : บ้านเพื่อคนไทยมีที่ไหนบ้าง แต่ละทำเลมีห้อง-บ้านแบบไหนบ้าง?
คำตอบคือ ระยะแรกเปิดมา 4 ทำเลที่ตั้งโครงการ ได้แก่
– กรุงเทพมหานคร กม.11 วิภาวดี (ใกล้ห้าแยกลาดพร้าว) – คอนโด พื้นที่ขนาด 30, 40, 45, 51 ตร.ม.
– กรุงเทพมหานคร ธนบุรี (ใกล้ รพ. ศิริราช) – คอนโด พื้นที่ขนาด 30, 45 ตร.ม.
– เชียงใหม่ (ใกล้สถานีรถไฟเชียงใหม่) – บ้านเดี่ยว ขนาด 50 ตร.ว.
– ปทุมธานี (ติดสถานีรถไฟเชียงราก) – คอนโด พื้นที่ขนาด 30, 45 ตร.ม.
คำถาม : ใครซื้อได้บ้าง?
คำตอบคือ
– ผู้ที่มีสิทธิซื้อได้ต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย
– เป็นผู้บรรลุนิติภาวะ ณ วันลงทะเบียน ซึ่งก็คือ 20 ปีบริบูรณ์ค่ะ
– เป็นผู้มีรายได้ ณ วันลงทะเบียน ไม่เกิน 50,000 บาท/เดือน
– ไม่เคยมีกรรมสิทธิ์ในอาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง ที่อาจใช้เป็นที่พักอาศัยทุกประเภท รวมถึงคนที่เคยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์มาก่อนหรือคนที่เคยกู้ซื้อที่อยู่อาศัย ถึงแม้ในปัจจุบันจะขายไปแล้วแต่ก็ถือว่าคุณสมบัติไม่ผ่านเกณฑ์แล้วนะคะ
– ไม่เคยรับสิทธิในโครงการบ้านเพื่อคนไทย ซึ่งทุกคนในตอนนี้จะผ่านเกณฑ์ข้อนี้ เพราะเป็นการเปิดให้จองครั้งแรกค่ะ
ข้อมูลเพิ่มเติม >> คลิกที่นี่
เราหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับคุณผู้อ่านทุกคนที่กำลังเตรียมตัวหาข้อมูลซื้อบ้าน-คอนโด-ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง อยากให้ทุกคนมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเองและผ่อนบ้านได้อย่างสบายใจ
หากคุณผู้อ่านคนไหนมีประสบการณ์น่าสนใจเกี่ยวกับการลดค่าโอน-จดจำนอง, การเข้ามาตรการช่วยเหลือใดๆ ของภาครัฐ ก็สามารถมาแชร์เรื่องราวใน Comment กันได้เลยนะคะ เชื่อว่าต้องเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆ คนอื่นแน่นอนค่ะ และเพื่อไม่ให้พลาดคอนเทนต์ดีๆ แบบนี้ ฝากติดตามเพจ Thinkofliving ด้วยนะคะ